สำนักพุทธฯ เวียนประกาศคณะสงฆ์ห้ามทดลองของขลัง-ห้ามเป็นหมอเสน่ห์ แจ้งพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ชี้ ปลุกเสก "ลูกเทพ" ก็เข้าข่าย ระบุหากฝ่าฝืนตามประกาศคณะสงฆ์อนุญาตให้เจ้าคณะผู้ปกครองพิจารณาสั่งสึกได้...
เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 59 นายสมชาย สุรชาตรี โฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีมีพระสงฆ์บางจังหวัดทำการปลุกเสกตุ๊กตาลูกเทพ โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ให้นำมติมหาเถรสมาคม (มส.) และประกาศคณะสงฆ์ 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1. ประกาศเรื่องห้ามภิกษุสามเณรเรียกเงินค่าเวทมนตร์ และห้ามทดลองของขลัง พ.ศ.2495 ที่ระบุว่า หากมีภิกษุเห็นแก่อามิส มุ่งลาภสักการะ ตั้งตนเป็นอาจารย์ปลุกเสกลงเลขยันต์ที่ศีรษะบ้าง หน้าผากบ้าง สอนเวทมนตร์ เพื่อแคล้วคลาดศาสตราวุธบ้าง โดยเรียกเงินจากผู้มาขอให้ปลุกเสกบ้าง เป็นการผิดสมณวิสัย จัดเข้าในอาชีววิบัต มีโทษทางพระวินัย เสื่อมความเชื่อความเลื่อมใสของพระพุทธศาสนิกชน ไม่ใช่ข้อปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาเป็นความเสื่อมเสียแก่คณะสงฆ์และพระศาสนา
2. ประกาศห้ามไม่ให้ภิกษุเป็นหมอเสน่ห์ยาแฝด อาถรรพณ์ ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พ.ศ.2476 ที่ระบุว่า ถ้าภิกษุรูปใดประพฤติล่วงละเมิด เมื่อพิจารณาได้ความจริง ให้เจ้าอาวาสหรือเจ้าคณะในท้องที่ที่เกิดอธิกรณ์ลงโทษให้สึกเสีย แล้วรายงานตามลำดับ โดยจะมีการทำหนังสือและแนบประกาศทั้ง 2 ฉบับ แจ้งไปยังพระสังฆาธิการในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งนี้ การปฏิบัติตามประกาศของคณะสงฆ์ดังกล่าว เจ้าคณะผู้ปกครองจะพิจารณาจากเจตนาของพระสงฆ์ หากเป็นการเจิมหรือปลุกเสกตุ๊กตาลูกเทพโดยเป็นไปในเชิงพุทธพาณิชย์ เจ้าคณะผู้ปกครองต้องตักเตือน หากตักเตือนแล้วยังฝ่าฝืนคำสั่งอีก ตามประกาศคณะสงฆ์ดังกล่าวให้สามารถพิจารณาลงโทษถึงขั้นให้สึกได้
นายสมชาย กล่าวต่อไปว่า กรณีที่พระสงฆ์ทำพิธีไสยศาสตร์โดยการใช้กระดูกของศพ มาทำพิธีปลุกเสกลงในตัวตุ๊กตาลูกเทพ หากศพนั้นมีญาติ จะถือว่าพระที่กระทำการดังกล่าวเข้าข่ายอาบัติปาราชิก เพราะหากญาติของศพดังกล่าวมาร้องเรียน และมีการตรวจสอบว่าเป็นญาติของศพนั้นจริง จะถือว่าพระสงฆ์ที่นำกระดูกศพมาเป็นการลักขโมย ซึ่งตามวินัยสงฆ์แล้วเมื่อพระสงฆ์ไปลักขโมยของที่มีเจ้าของจะถือว่าอาบัติปาราชิก